Friday, October 5, 2012

CNG NGV LPG คืออะไรหว่า


http://www.heedisarn.com/board/thread-1837-1-1.html

แก๊สที่นำมาใช้กับรถยนต์ เป็นพลังงานปิโตรเลียมชนิดหนึ่ง เช่นเดียวกันกับน้ำมัน คือเป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอนเหมือนกัน เมื่อนำมาเผาไหม้ก็จะให้พลังงานออกมาจึงใช้แทนกันได้
            NGV CNG LPG คงคุ้นเคยกันบ้างเนาะ ว่าแต่ว่ามัีนคืออะไร?
            NGV มาจากคำว่า Natural Gas Vehicles ความหมายตามศัพท์ภาษาอังกฤษ หมายถึงตัวยานยนต์หรือยานพาหนะที่ใช้แก๊สธรรมชาติอัดเป็นเชื้อเพลิง เช่น รถเมล์ขสมก.สีส้ม ที่ติดสติกเกอร์ว่า NGV หรือรถแท็กซี่ที่ใช้แก๊สธรรมชาติอัดเป็นเชื้อเพลิง เราจะเรียกรถเมล์หรือรถแท็กซี่เหล่านี้ว่า NGV ซึ่งไม่ได้หมายถึงตัวแก๊สที่นำมาใช้เป็นเชื้อเพลิง
            CNG มาจากคำว่า Compressed Natural Gas เป็นตัวแก๊สธรรมชาติอัดที่นำมาใช้เป็นเชื้อเพลิง
            ดังนั้น ถ้าพูดกันตามรากศัพท์จริงๆแล้ว NGV จะหมายถึงตัวรถ แต่ CNG จะหมายถึงตัวแก๊สที่ใช้กับรถ แต่ในปัจจุบันเราใช้คำว่าแก๊ส NGV จนเป็นที่เข้าใจตรงกันแล้วว่าหมายถึงตัวแก๊สธรรมชาติอัดที่นำมาใช้เป็นเชื้อเพลิง ซึ่งก็เหมือนกับยี่ห้อสินค้าที่เรียกกันจนติดปากนั่นเอง ดังนั้นจึงอนุโลมให้ใช้ได้ ไม่ว่าจะเรียกว่า แก๊ส NVG หรือ แก๊ส CNG ก็จะหมายถึงตัวเดียวกัน
            LPG มาจากคำว่า Liquified Petroleum Gas คือ แก๊สธรรมชาติเหลวหรือรู้จักกันมานานในนามของ "แก๊สหุงต้ม"
            นั่นหมายความว่า แก๊ส NGV กับแก๊ส CNG ก็คือแก๊สตัวเดียวกัน ส่วนแก๊ส LPG จะเป็นอีกตัวหนึ่ง ซึ่งก็คือแก๊สหุงต้มที่ใช้กันตามบ้านเรือนนั่นเอง

องค์ประกอบของแก๊ส            แก๊ส NGV ก็คือแก๊สธรรมชาติอัด ซึ่งได้มาจากการทับถมกันของซากพืชซากสัตว์ตามชั้นหินดินเป็นเวลาหลายร้อยล้านปี โดยที่ซากเหล่านี้จะถูกความร้อนและความกดดันในชั้นหินนั้นทำให้แปรสภาพเป็นแก๊สธรรมชาติเกิดขึ้น ซึ่งองค์ประกอบหลักของแก๊สธรรมชาติส่วนใหญ่ก็คือแก๊สมีเทน ในการนำมาผลิตเป็นแก๊ส NGV ก็จะนำมาผ่านกระบวนการอัดที่ความดันสูง โดยอัดเก็บไว้ในถังเพื่อความสะดวกในการขนส่งและการใช้งาน แต่อย่างไรก็ตามภายในถังก็ยังคงมีสถานะเป็นแก๊สอยู่
            ส่วนแก๊ส LPG มีองค์ประกอบเป็นแก๊สโพรเพนและแก๊สบิวเทนผสมกันอยู่ จะเป็นอัตราส่วนเท่าใดก็ได้ ซึ่งในบางครั้งอาจจะใช้แก๊สโพรเพนหรือบิวเทนเพียงอย่างเดียว แต่ในประเทศไทย แก๊ส LPG ที่ใช้กันได้มาจากการผสมแก๊สโพรเพน 70 ส่วน ต่อ บิวเทน 30 ส่วน แก๊สโพรเพนกับบิวเทนส่วนใหญ่ได้มาจากการแยกแก๊สธรรมชาติและก็ยังได้มาจากการแยกน้ำมันดิบในโรงกลั่นน้ำมันอีกด้วย และในการนำแก๊ส LPG มาใช้ เราจะนำมาอัดใส่ลงถังเพื่อความสะดวกในการขนส่งเช่นเดียวกับ NGV แต่แก๊สจะอยู่ในสถานะของเหลว
ข้อดีและข้อเสียของแก๊สแต่ละชนิด
            ในเรื่องของการเผาไหม้ ทั้งแก๊ส NGV และ LPG ค่อนข้างเผาไหม้ได้สมบูรณ์ คือมีเขม่าและมลพิษน้อย ถ้าเปรียบเทียบกับน้ำมันก็เรียกได้ว่าสะอาดกว่า แล้วก็ดีต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า
            แต่ถ้าดูในเรื่องของความปลอดภัย แก๊ส NGV ดูค่อนข้างจะปลอดภัยมากกว่า เนื่องจากองค์ประกอบก็คือแก๊สมีเทน มีน้ำหนักเบากว่าอากาศ ดังนั้นเมื่อเกิดการรั่วไหล แก๊สจะลอยขึ้นด้านบนทันที แต่แก๊ส LPG จะหนักกว่าอากาศ เมื่อเกิดการรั่วไหลออกมาก็จะกระจายสะสมอยู่ตามพื้นราบ ทำให้ติดไฟได้ง่าย ดังนั้นสำหรับแก๊ส LPG แล้ว เนื่องจากองค์ประกอบคือแก๊สโพรเพนกับบิวเทนนั้นไม่มีสี ไม่มีกลิ่น เพื่อเพิ่มความปลอดภัยจึงมีการเติมสารเคมีลงไปเพื่อให้มีกลิ่น จะได้ทราบว่าแก๊สมีการรั่วไหลออกมา
            ราคาแก๊ส NGV จะถูกกว่า LPG คือประมาณ 8.50 บาท ต่อกิโลกรัม ส่วน LPG ราคาประมาณ 16.81 บาทต่อกิโลกรัม แต่อย่างไรก็ตามราคาถูกกว่าน้ำมันทั้งคู่
            ในการเปลี่ยนเชื้อเพลิงที่ใช้กับรถยนต์จากน้ำมันมาเป็นแก๊สก็คงทำไม่ได้ทันที เพราะเหตุผลหลายๆอย่างด้วยกัน อันแรกก็คือเรื่องของเครื่องยนต์ โดยทั่วไปเครื่องยนต์จะออกแบบมาเพื่อใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง การเปลี่ยนมาใช้แก๊สก็ต้องมีการดัดแปลงเครื่องยนต์ใหม่ ซึ่งในสวนนี้ก็มีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นหรือแม้แต่ถ้าเดิมเป็นรถยนต์ที่ใช้แก๊ส LPG อยู่แล้ว อย่างเช่นรถแท็กซี่ ถ้าอยากจะเปลี่ยนมาใช้แก๊ส NGV แทน ก็ไม่สามารถเติมแก๊ส NGV ได้ทันที เพราะว่าแรงดันของแก๊ส NGV มีมากกว่า ถ้าใช้ถังเชื้อเพลิงเดิมมาอัดแก๊ส NGV เลย ก็จะทำให้ระเบิดได้ ดังนั้นต้องมีการเปลี่ยนถังเชื้อเพลิงใหม่ ซึ่งก็เป็นค่าใช้จ่ายอีกเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ต้องคำนึงถึงจำนวนสถานีที่ให้บริการเติมแก๊ส ปัจจุบันก็นับว่ายังมีน้อยอยู่ โดยจากข้อมูลที่มีตอนนี้ สถานีเติมแก๊ส LPG จะมีอยู่ประมาณ 200 กว่าแห่งทั่วประเทศ ส่วนสถานีเติมแก๊ส NGV มีอยู่เพียง 30 กว่าแห่งเท่านั้นเอง ซึ่งน้อยมาก แต่ในอนาคตจะมีเพิ่มขึ้น
ที่มา  :  www.ipst.ac.th
ขอบคุณ คุณเลิศชาย ปานมุข กศน.บ้านแพรก

No comments:

Post a Comment

Popular Posts